ภัยแป้งฝุ่น
เทศกาลสงกรานต์ หรือปีใหม่ไทย หลายคนคงได้สนุกสนานกับการเล่นสาดน้ำคลายร้อน หรือบางคนอาจกลายเป็นสาวน้อยหนุ่มน้อยประแป้ง แต่ภัยร้ายที่มากับแป้งนั้นอาจคืบคลานมาสู่เราอย่างไม่รู้ตัว รศ.ดร.ไสยวิชญ์ วรวินิต [1] ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีแป้ง และนักเทคโนโลยีดีเด่นของมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ ประจำปี 2549 กล่าวถึงแป้งฝุ่น รวมถึงแป้งเด็กทาตัวที่นิยมใช้กันโดยทั่วไป มักจะผลิตจากแร่หินชนิดหนึ่งชื่อ “ทัลค์” (Talc) หรือ “แป้งทัลคัม” (Talcum Powder) มีชื่อทางเคมีว่า แมกนีเซียม ซีลีเคท ไฮโดรไซด์ แป้งชนิดนี้ได้มาจากการโม่หินทัลคัมให้ละเอียด แล้วอบให้แห้ง ฆ่าเชื้อและแยกสิ่งแปลกปลอมออก แต่งอาจยังมีสารแปลกปลอมบางอย่างที่มีคุณสมบัติคล้ายสารก่อมะเร็ง ชื่อ แอสเบสตอส (Asbestos) หลงเหลืออยู่ และแม้จะไม่เกิดการตกค้างจากการใช้ผลิตภัณฑ์ในระยะเวลาสั้นก็ตาม แต่เนื่องจากแป้งทัลคัมย่อยสลายไม่ได้ จึงพบว่า หากสูดดมแป้งทัลคัมเข้าไปมากๆ ก็จะมีผลต่อร่างกาย เช่น ปอด ทำให้เกิดอาการไอ ระบบทางเดินหายใจติดขัดรุนแรง และเป็นสาเหตุหนึ่งของภูมิแพ้ หรือหากสูดเข้าไปทีละน้อยเป็นเวลานานๆ เซลล์บุผิวปอดก็จะดักจับแป้งสะสมเป็นก้อนไว้ในปอด ทำให้การหายใจมีปัญหา สำหรับในเด็กทารกก็อาจจะมีอาการปอดอักเสบ หรือเกิดเนื้องอกขึ้นในปอดและทำให้เสียชีวิตได้ นอกจากนี้นักวิทยาศาสตร์ ยังพบว่าอัตราเสี่ยงเป็นมะเร็งรังไข่มีเพิ่มสูงขึ้นในผู้หญิงที่ใช้แป้งเพื่อลดการอับชื้นที่อวัยวะเพศ เนื่องจากแป้งที่อาจหลุดรอดเข้าไปในช่องคลอด มดลูก ท่อนำไข่ และผ่านไปสู่ช่องท้องได้
เนื่องจากคุณสมบัติของแป้งทัลคัมที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพต่อผู้ใช้ ในบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา แพทย์จึงแนะนำให้หลีกเลี่ยงการใช้แป้งทัลคัม ทำให้ผู้ผลิตแป้งฝุ่นหลายรายหันมาใช้แป้งอื่นๆ เช่น แป้งข้าวโพด หรือแป้งข้าวเจ้า ที่แม้จะมีราคาสูงกว่าแป้งทัลคัม เนื่องจากเป็นแป้งที่ได้จากวัตถุดิบจากธรรมชาติ เป็นสารอินทรีย์ที่สามารถย่อยสลายได้ด้วยจุลินทรีย์ในธรรมชาติ ไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ ไม่สะสมในปอดหรือใต้ร่มผ้า และลดความเสี่ยงในการก่อให้เกิดมะเร็งรังไข่ หรือมะเร็งช่องคลอด
น่ายินดีที่นักวิทยาศาสตร์ไทยสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์แป้งเด็กที่ทำจากแป้งข้าวเจ้าบริสุทธิ์โดยผ่านกระบวนการผลิตและฆ่าเชื้อด้วยกรรมวิธีทันสมัยและสะอาดปลอดภัยได้ จึงได้เนื้อแป้งที่ขาวเนียน ละเอียดอ่อน ช่วยดูดซับความเปียกชื้นและไขมันได้สูงกว่าทัลคัม ไม่ระคายเคืองต่อผิวที่บอบบางของเด็ก และที่สำคัญคือ ปราศจากส่วนผสมของแป้งทัลคัม
นพ.สมชัย นิจพานิช [2] อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แนะนำ “ดินสอพอง” ซึ่งเป็นภูมิปัญญาไทยใช้เป็นเครื่องประทินผิวที่นิยมกันในสมัยโบราณ มีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการผดผื่นคัน นำมาใช้พอกเพื่อเพิ่มความเนียนและป้องกันการระคายเคืองจากสิว ดินสอพองเป็นวัตถุดิบที่ได้จากดินธรรมชาติ จึงมีโอกาสปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ในดิน ดังนั้นก่อนนำมาใช้จึงควรเลือกดินสอพองที่ได้มาตรฐานซึ่งจะต้องมีสีนวล ผ่านกระบวนการผลิตที่มีการคั่วและอบที่อุณหภูมิ 200 องศาเซลเซียส เพื่อทำให้แบคทีเรียหรือจุลินทรีย์ต่างๆตายหมด หรืออาจเลือกใช้ “แป้งหอม แป้งร่ำ” ที่ผ่านการกรองและร่อนตะแกรงอย่างดีจนเนื้อละเอียด ไม่มีการปนเปื้อนสีต่างๆซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อผิวหน้า ดวงตา หรือบริเวณอวัยวะสำคัญของร่างกายที่แพ้ง่าย
การดำรงวิถีชีวิตไทยๆด้วยภูมิปัญญาอย่างไทยๆช่วยให้ห่างไกลจากภัยร้ายและมะเร็งได้เป็นอย่างดี
แหล่งอ้างอิง
[1] เดลินิวส์ออนไลน์. เตือนภัยสารก่อมะเร็ง - ภูมิแพ้จากแป้งเด็ก: ในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์. [ออนไลน์] 5 เมษายน 2556 เวลา 00:00 น. [เข้าถึงเมื่อ 14 เมษายน 2556]; http://www.dailynews.co.th/society/195204
[2] ผู้จัดการออนไลน์. แพทย์แผนไทยฯ เตือนใช้ “ดินสอพอง” ห้ามผสมน้ำคลอง: ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ. [ออนไลน์] 10 เมษายน 2556 16:34 น. [เข้าถึงเมื่อ 16 เมษายน 2556]; http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9560000043519
เอ๋ เอกระวี จินดารักษ์
ผู้รวบรวมข่าวคุณภาพชีวิต
30 เมษายน 2556