สถานการณ์กรุบกรอบขี้โรค: เด็กไทยเกินกว่า 1 ใน 4 คน กินขนมกรุบกรอบทุกวัน
วิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อมของคนไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เกิดกระแสวัฒนธรรมอาหารจานด่วนที่มีน้ำตาล แป้ง ไขมันประเภทไม่ดี และเกลือสูง ที่เป็นภัยต่อสุขภาพของเด็กและเยาวชน ปี 2549 [1] ผลจากโครงการวิจัยเรื่อง “พฤติกรรมการบริโภคอาหารว่างและขนมของเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในอำเภอหาดใหญ่: ความสัมพันธ์กับภาวะโภชนาการ” ที่พญ.อารยา ตั้งวิฑูรย์ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้ (วพส.) แสดงให้เห็นว่า เด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของการวิจัย มีพฤติกรรมทางโภชนาการที่น่าเป็นห่วง คือ นิยมบริโภคขนมซองที่มีแป้งและไขมันปริมาณมาก โดยบริโภคเฉลี่ยวันละ 3-4 ครั้ง และ น้ำอัดลมเป็นเครื่องดื่มที่นิยมบริโภคกันมากที่สุด พลังงานจากขนมและอาหารว่างที่เด็กได้รับโดยเฉลี่ยประมาณ 495 กิโลแคลอรีต่อวัน หรือเทียบเท่ากับ 30% ของพลังงานที่ต้องการต่อวัน มากกว่าปริมาณมาตรฐานที่ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยกำหนดไว้ ซึ่งพลังงานส่วนเกินนี้ร่างกายจะเปลี่ยนเป็นไขมันเก็บไว้ จึงเป็นสาเหตุของโรคอ้วนได้
ปี 2552 [2] ผลจากการเฝ้าระวังภาวะโภชนาการในเด็กนักเรียน พ.ศ.2552 พบว่า นักเรียนระดับมัธยมศึกษาของโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา มีภาวะโภชนาการเกิน (เริ่มอ้วนและอ้วน) ร้อยละ 10.43 และ ร้อยละ 14.64 ตามลำดับ และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ทศวรรษที่ผ่านมา [3] จึงมีเด็กอ้วนมากขึ้น เป็นเบาหวานกันเร็วขึ้น และอาจเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่เป็นโรคเรื้อรังเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับอดีต
ผลการสำรวจ [4] สุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 4 พ.ศ.2551-2552 ผนวกกับการสำรวจการบริโภคอาหารของประชาชนไทย โดยสำนักงานสำรวจสุขภาพประชาชนไทย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข เมื่อนำผลที่ได้ไปเทียบกับผลการสำรวจภาวะอาหารและโภชนาการของประเทศไทย พ.ศ.2546 โดยกองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แล้วพบว่า ในกลุ่มเด็กอายุ 6-14 ปี มี เด็กไทย เกินกว่า 1 ใน 4 คน กินขนมกรุบกรอบทุกวัน และกินกันถี่ขึ้นกว่าเด็กไทยในอดีต
ฉะนั้น เพื่อให้เด็กมีภาวะโภชนาการที่ดี หลีกเลี่ยงโรคอ้วนเกินไปหรือมีภาวะโภชนาการไม่เหมาะสมที่จะส่งผลต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของสมอง จึงควรมีความร่วมมือกันระหว่างผู้ปกครองและกุมารแพทย์หรือนักโภชนาการในการรณรงค์ให้ความรู้และให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเลือกชนิดและปริมาณอาหารว่างและขนมอย่างถูกต้อง ควรเน้นเรื่องอาหารมื้อหลักที่รับประทาน และปรับกิจวัตรประจำวันและการออกกำลังกายให้เหมาะสมควบคู่กันไปด้วย
ข้อคิดเห็น
การติดสัญลักษณ์ [5] ไฟเขียว-เหลือง-แดง ไว้หน้าถุงขนม เป็นกลวิธีการเปรียบเทียบที่จะช่วยบ่งชี้ว่า ขนมถุงใดมีคุณค่าทางโภชนาการที่ดีกว่ากัน โดยสัญญาณ 'ไฟเขียว' สำหรับอาหารว่าง คือ เกณฑ์กำหนดที่เกี่ยวกับอาหารว่างที่ว่าในหนึ่งมื้อหรือหนึ่งหน่วยบริโภค ควรให้พลังงานต่ำ (ไม่เกิน 150 กก.แคลอรี่) มีไขมันไม่เกิน 2.5 ก. น้ำตาลไม่เกิน 12 ก. และเกลือโซเดียมไม่เกิน 100 มก. ส่วนสัญญาณไฟเหลืองหรือไฟแดงนั้น ก็จะมีค่าพลังงานสารอาหารที่สูงกว่านั้นมากขึ้นไปตามลำดับ ยกตัวอย่างเช่น กรณีไฟแดงนั้น ค่าทุกอย่างที่กล่าวไปจะสูงเป็นประมาณ 2 เท่าของไฟเขียว เช่น ไฟแดงจะมีค่าไขมัน 5 ก.ขึ้นไป เป็นต้น
ข้อเสนอการกำหนดเกณฑ์สำหรับ 'ขนม 5 ดาว' [6] ถูกเสนอขึ้น เพื่อให้เด็กๆได้ติดดาวให้แก่ขนมก่อน ก่อนจะเลือกซื้อ หรือไม่ซื้อขนมนั้น โดยขนม 5 ดาวนั้น นอกจากจะมีองค์ประกอบ 3 ส่วน คือ ไขมัน น้ำตาล และเกลือ ผ่านเกณฑ์ไฟเขียว (จึงได้ 3 ดาว) แล้ว ยังมีสารอาหารที่มีประโยชน์อื่น เช่น โปรตีน เหล็ก แคลเซียม วิตามินเอ ซี บี1 บี2 หรือใยอาหาร เพิ่มเข้ามาอีกไม่น้อยกว่า 2 ชนิด และแต่ละชนิดมีปริมาณ ไม่ต่ำกว่า 10% ของปริมาณที่เด็กควรได้รับต่อวัน (ก็จะได้แถมอีก 2 ดาว) ทำให้ถูกจัดอันดับเป็นขนม 5 ดาว เด็กฉลาดเลือก จะซื้อแต่ขนมที่ได้ดาว ไม่ต่ำกว่า 3 ดาวเป็นอย่างน้อย
อย่างไรก็ตาม มีข้อติงการนำวิธีการให้ดาวแก่ขนมว่า เกรงจะถูกนำไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม เช่นนำไปส่งเสริมให้เด็กกินขนมแม้ว่าขนมนั้นจะเป็นขนม 5 ดาวก็ตาม ซึ่งเป็นประเด็นของการนำข้อมูลไปใช้ จึงควรสร้างความตระหนักเกี่ยวกับอาหารว่างว่าอาหารว่างนั้นแตกต่างจากอาหารมื้อหลัก พร้อมกันนั้นควรให้ความรู้เกี่ยวกับการเลือกประเภทของอาหารว่าง ด้วยว่า “วิธีการเลือกผลไม้” ที่ดีที่เหมาะสมและแคลอรี่ไม่สูงเกินนั้น ก็ยังไม่เป็นที่เข้าใจกันสักเท่าใดนัก
แหล่งอ้างอิง
[1] ฝ่ายสื่อสารสาธารณะและขับเคลื่อน สถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้ (วพส.). ขนมกรุบกรอบ-นมเปรี้ยว-น้ำอัดลม ตัวการปัญหาโรคอ้วนในเด็ก. [ออนไลน์] 2549 [เข้าถึงเมื่อ 20 มีนาคม 2556]; http://www.psu.ac.th/node/2157
[2] กองสร้างเสริมสุขภาพ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร. เอกสารออนไลน์ในโครงการ วัยเรียน วัยใส ใส่ใจสุขภาพ. [ออนไลน์] 8 มกราคม 2554 [สืบค้นเมื่อ 7 ตุลาคม 2554]; http://bangkokyouthclub.com/AboutProject.aspx
[3] สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล. แผนยุทธศาสตร์สุขภาพดีวิถีชีวิตไทย พ.ศ.2554-2563 (Thailand Healthy Lifestyle Strategic Plan B.E.2554-2563) (เอกสารออนไลน์ ของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข ฉบับปรับปรุง ลำดับที่ 84. [ออนไลน์] 17 ตุลาคม 2554 [สืบค้นเมื่อ 2 มกราคม 2556]; http://bps.ops.moph.go.th
[4] วิชัย เอกพลากร, บรรณาธิการ. รายงานการสำรวจการบริโภคอาหารของประชาชนไทย การสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 4 พ.ศ.2551-2552. พิมพ์ครั้งที่ 1. นนทบุรี: สำนักงานสำรวจสุขภาพประชาชนไทย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข; 2554. http://www.nheso.or.th/loadfile/child_NHESO4%20(1).pdf
[5] สิริมนต์ ชายเกตุ. ขนมเด็กกับฉลากโภชนาการ. J SWU Sci. 2008;24(2):125-136. [ออนไลน์] 2551 [เข้าถึงเมื่อ 20 กรกฎาคม 2555]; http://ejournals.swu.ac.th/index.php/ssj/article/view/423
[6] หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ หน้าสุขภาพ. เรียกร้องปรับหีบห่อ ติดดาว ไฟจราจรขนมเป็นมิตรต่อสุขภาพ: ในหน้าข้อมูลออนไลน์ของมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ. [ออนไลน์] 26 สิงหาคม 2550 [เข้าถึงเมื่อ 20 มีนาคม 2556]; http://www.thainhf.org/index.php?module=article&page=detail&id=46
เอ๋ เอกระวี จินดารักษ์
ผู้รวบรวมข่าวคุณภาพชีวิต
20 มีนาคม 2556