ร้อนแทบตาย
นพ. ศรายุธ อุตตมางคพงศ์ ผอ. สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 (สคร.7) จังหวัดอุบลราชธานี รับผิดชอบพื้นที่ 7 จังหวัด รวมถึงจังหวัดศรีสะเกษ [1] ได้แบ่งกลุ่มผู้เสี่ยงต่ออันตรายหรือเสี่ยงต่อโรคจากความร้อน ออกเป็น 5 กลุ่ม คือ 1. เด็กเล็ก 2. ผู้สูงอายุเกิน 65 ปี 3. ผู้ที่ท้วมหรืออ้วน 4. ผู้ใช้แรงงานอย่างหนักหรือผู้ออกกำลังกายหนัก และ 5. ผู้ที่เป็นโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง หรือกำลังรับประทานยาบางชนิด เช่น ยารักษาภาวะซึมเศร้า หรือภาวะนอนไม่หลับ นอกจากนี้ผู้ที่ต้องระวังโรคจากความร้อนเป็นพิเศษ ได้แก่ ผู้ที่ทำงานกลางแดด เช่น ชาวไร่ชาวนา ผู้ใช้แรงงานก่อสร้าง ทหารเกณฑ์ระหว่างฝึกหนัก และเด็กที่ถูกทิ้งไว้ในรถที่ดับเครื่องกลางแดดรอผู้ปกครอง
โรคจากความร้อนที่สำคัญ ได้แก่
1. โรคลมแดด (Heat Stroke)
เป็นโรคที่เกิดจากความร้อนที่มีอาการรุนแรงที่สุดจนอาจทำให้เสียชีวิตได้ เนื่องจากในสภาวะอากาศที่ร้อนจัด ระบบการควบคุมอุณหภูมิของร่างกายจะหยุดทำงาน ทำให้อุณหภูมิร่างกายของผู้ป่วยสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ผิวหนังแดง ร้อน และแห้ง ไม่มีเหงื่อ ชีพจรเต้นแรงเร็ว ปวดหัวตุบ ๆ วิงเวียน คลื่นไส้ ไม่รู้สึกตัว หากพบต้องรีบปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยรีบนำผู้ป่วยเข้าในที่ร่มและรีบทำให้ร่างกายผู้ป่วยเย็นโดยเร็ว ด้วยการใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตามตัวหรือห่อตัว ในรายที่ไม่รู้สึกตัวห้ามไม่ให้ดื่มน้ำ หากมีอาการชักให้จับผู้ป่วยนอนตะแคงเพื่อป้องกันอุบัติเหตุและการสำลักจากการอาเจียน ห้ามใช้วัสดุ เช่น ช้อน ส้อม ใส่ในปาก และรีบพาไปพบแพทย์ทันที
2. โรคเพลียแดด (Heat Exhaustion)
เป็นโรคที่เกิดในขณะที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูง อุณหภูมิผู้ป่วยร่างกายจะสูงกว่า 37 องศาเซลเซียส มีอาการเหงื่อออกมาก หน้าซีด เหนื่อย อ่อนแรง วิงเวียน ปวดหัว อาเจียน เป็นลม กล้ามเนื้อเกร็ง ควรช่วยเหลือผู้ป่วยด้วยการให้ดื่มน้ำเปล่าเย็น ๆ และเช็ดตัวด้วยน้ำเย็น ถ้าเป็นไปได้พาเข้าไปอยู่ในห้องที่มีเครื่องปรับอากาศ หรือใต้ร่มไม้
3. โรคตะคริวแดด (Heat Cramps)
มักพบในคนที่เสียเหงื่อมาก ระหว่างทำงานหนัก หรือออกกำลังกาย ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่ ส่งผลให้เป็นตะคริว ผู้ป่วยจะปวดกล้ามเนื้อ มีอาการเกร็งบริเวณหน้าท้อง แขนหรือขา ซึ่งหากมีอาการเหล่านี้ ผู้ป่วยควรหยุดการใช้แรงทันที และเข้าไปอยู่ในที่ร่มหรือที่มีเครื่องปรับอากาศ ดื่มน้ำผลไม้ หรือเครื่องดื่มที่มีเกลือแร่ ถ้าอาการไม่ดีภายใน 1 ชั่วโมง ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
4. ผิวหนังไหม้แดด (Sunburn)
ผู้ป่วยจะมีผิวหนังเป็นรอยแดง ปวดแสบปวดร้อนเล็กน้อย โดยทั่วไปอาการจะหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์ แต่ห้ามเจาะตุ่มน้ำที่พอง ให้ใช้การประคบเย็น และทาโลชั่นเพื่อให้ความชุ่มชื้น หากเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี หากมีตุ่มพองน้ำใส ปวดรุนแรง ให้ไปพบแพทย์เช่นกัน
การป้องกันโรคที่เกิดจากความร้อน ทำได้โดย
- ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว หรือ 2 ลิตรต่อวัน โดยสังเกตสีปัสสาวะ ถ้ามีสีเหลืองเข้มแสดงว่าดื่มน้ำไม่เพียงพอ
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์และการอยู่กลางแดดจัด
- ป้องกันไม่ให้ผิวหนังสัมผัสแสงแดดโดยตรง โดยสวมเสื้อผ้าที่หลวม เบาสบาย กางร่มหรือสวมหมวกปีกกว้าง และใช้ครีมกันแดด ที่มีค่า SPF 15 ขึ้นไป ก่อนออกแดด 30 นาที และทาซ้ำตามคำแนะนำของผลิตภัณฑ์
- สำหรับผู้ที่เดินทางหรือต้องทำงานกลางแจ้ง แนะนำให้สวมแว่นตากันแดดเพื่อกรองแสง ซึ่งนอกจากจะช่วยให้มองเห็นภาพชัดเจนขึ้นแล้ว ยังช่วยป้องกันฝุ่นละออง และป้องกันแสงยูวีที่จะทำให้เกิดการเสียหายต่อสายตาและกระจกตาด้วย
แหล่งอ้างอิง
[1] เดลินิวส์ออนไลน์. สคร.7 เตือนระวังโรคจากความร้อนอาจทำให้ถึงตาย: ในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์. [ออนไลน์] 29 มีนาคม 2556 เวลา 10:40 น. [เข้าถึงเมื่อ 24 เมษายน 2556]; http://www.dailynews.co.th/thailand/193831
เอ๋ เอกระวี จินดารักษ์
ผู้รวบรวมข่าวคุณภาพชีวิต
30 เมษายน 2556