เตรียมตัวชี้บ่งความอ้วน
หากสามารถชี้บ่งระดับความอ้วนหรือผอมเป็น “ตัวเลข” ได้ จะเป็นหน่วยช่วยชี้วัดความคืบหน้า (หรือไม่คืบหน้า) ในการควบคุมน้ำหนักตนเองได้เป็นอย่างดี เช่น วันนี้อ้วนขึ้นนิดหน่อย อ้วนขึ้นมาก อ้วนขึ้นมากเหลือเกิน หรือวันนี้ผอมลง เป็นต้น การนำตัวเลขรูปธรรมมาใช้ในการชี้บ่งก็เพียงเพื่อช่วยกำกับให้ตัวเราอยู่กับ “ปัจจุบัน” ของตนเองได้เป็นสำคัญ
เชิญเลือกวิธีการที่อยากนำมาใช้ในการชี้บ่งก่อน
ตัวอย่างวิธีการที่นิยมนำมาใช้เพื่อชี้บ่งความอ้วนนั้น ได้แก่ การวัดเชิงสัณฐานทางมานุษยวิทยา (anthropometric index) การวัดความต้านทานของการผ่านของชีวกระแสไฟฟ้า (bioelectric impedance) การวัดความหนาแน่นของร่างกายโดยการชั่งน้ำหนักใต้น้ำ การวัดปริมาณโปแตสเซียมทั้งหมดในร่างกาย หรือการวัดทางรังสีวิทยาหรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เช่น DEXA, CT, MRI และ MRS ไม่ว่าจะเป็นวิธีการใดๆ ข้อผิดพลาดอาจเกิดขึ้นได้จากการคาดคะเนสัดส่วนองค์ประกอบของร่างกาย ที่มีความซับซ้อนของมวลไขมันล้วน มวลไขมันแทรกตามอวัยวะอื่น มวลกายที่ไร้ไขมัน และน้ำในร่างกาย รวมทั้งคุณลักษณะเฉพาะของกลุ่มผู้รับการตรวจ ที่ไม่สามารถเหมือนกันไปได้หมดในทุกเชื้อชาติ [1]
ในบรรดาวิธีการทั้งหลาย การชี้บ่งด้วยการวัดเชิงสัณฐานทางมานุษยวิทยานั้นง่ายที่สุดแล้ว ในที่นี้ จึงจะขอเสนอวิธีการชี้บ่งความอ้วนด้วยการวัดให้ได้เป็นตัวเลข 2 ค่า คือ ค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index; BMI) และ ค่าสัดส่วนความยาวเส้นรอบวงเอวต่อความสูง (Waist-to-Height Ratio; WHtR) เนื่องจากเป็นค่าที่สามารถใช้ในการประมาณการปริมาณไขมันในร่างกายได้อย่างแม่นยำในระดับหนึ่ง (ตัวหนึ่งวัดค่าน้ำหนักตัวเพื่อมาประมวลภาวะอ้วนทั่วทั้งตัว อีกตัววัดค่าความยาวเส้นรอบวงเอวเพื่อมาประมวลภาวะอ้วนกลางตัว) สามารถวัดได้โดยง่ายด้วยตนเองที่บ้าน หาซื้อเครื่องวัดได้โดยสะดวก และเป็นตัวชี้บ่งความอ้วนที่สามารถนำข้อมูลที่ได้มาเชื่อมโยงเทียบเคียงกับหลักฐานทางคลินิกและเมตาบอลิซึมรวมทั้งตามมาตรฐานงานวิจัยทั่วโลกได้อย่างพอควรแก่เหตุ
แม้ปัจจุบันจะมีวิธีการต่างๆอีกนานัปการ ให้เลือกนำมาใช้ในการระบุปริมาณไขมันในร่างกายมนุษย์ได้ทั้งในระดับอะตอม ระดับโมเลกุล ระดับเซลล์ ระดับเนื้อเยื่อ และระดับทั้งมวลร่างกาย แต่จะไม่นำมากล่าวถึงในที่นี้ เพราะราคาแพงเกินไป
บางคนอาจถามว่า ถ้าจะประหยัดกันขนาดนั้น กะๆคะเนเอาด้วยสายตาไปเลยไม่ดีกว่าหรือ จะได้ไม่ต้องมานั่งวัดนั่งคำนวณกันให้ยุ่งยาก แต่จากการศึกษาเกี่ยวกับความอ้วนในมหาวิทยาลัยไทยแห่งหนึ่ง ที่สำรวจโดยที่ให้เจ้าของร่างกายบอกมาเอง (self-reported) ว่ามีน้ำหนักและส่วนสูงเท่าไร ผลการวิเคราะห์แสดงให้เห็นว่า คนไทยเราจะบอกส่วนสูงโอเว่อร์กว่าความจริงนิดหนึ่ง และน้ำหนักน้อยกว่าความจริงอีกหน่อยหนึ่ง ทำให้ประเมินรวมๆออกมาแล้วดูผอมกว่าความเป็นจริง [2] สรุปว่าการจะชี้บ่งความอ้วนในคนไทย ควรยอมลงทุนวัด ให้ได้เป็นค่าตัวเลข จะดีกว่า ดีกว่าให้คิดกันเอาเอง
เชิญรับทราบข้อจำกัดของการชี้บ่งก่อน
ตัวชี้บ่งตัวแรก “ค่าดัชนีมวลกาย (BMI)” คำนวณจาก น้ำหนักตัวต่อส่วนสูงยกกำลังสอง (หน่วยเป็นกิโลกรัมต่อตารางเมตร)
BMI มีความสัมพันธ์กับระดับไขมันที่กระจายสะสมอยู่ใต้ผิวหนังในร่างกายของคนเรา ช่วยคะเนมวลไขมันในร่างกายมนุษย์ (ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่) ได้อย่างไม่ต้องหันเอาไขมันมาชั่งกิโลเหมือนหมูให้ยุ่งยาก นิยมใช้กับผู้ใหญ่ได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ส่วนการใช้ในเด็กยังมีข้อจำกัดเพราะเด็กกำลังโตทำให้มีการเปลี่ยนแปลงความสูงตามอายุและเวลาการสู่วัยรุ่นต่างกันไปในแต่ละเพศ กรณีเด็กจึงนิยมใช้ค่าน้ำหนักตามเกณฑ์ความสูง ข้อจำกัดอีกประการของ BMI คือ ในนักกีฬามีกล้ามเป็นมัดๆมักมีค่า BMI สูงเกิน (เพราะมีมวลกล้ามเนื้อมากไม่ใช่เพราะมีมวลไขมันมาก) ในกรณีเช่นนี้ควรใช้ตัววัดอื่นเพื่อชี้บ่งว่านักกีฬาท่านนั้นอ้วนเกินไปหรือไม่
ตัวชี้บ่งตัวสอง “ค่าสัดส่วนความยาวเส้นรอบวงเอวต่อความสูง (WHtR)” ถูกนำมาใช้ ด้วยว่าแม้ BMI จะเป็นวิธีการที่ใช้ได้คล่องตัวก็ตาม แต่ไม่สามารถแยกแยะความอ้วนรยางค์ทั้งตัว (peripheral obesity) ออกจากความอ้วนกลางตัวหรืออ้วนพุง (abdominal obesity) ได้ ยกตัวอย่างเช่น บางคนมีน้ำหนักตัวและ BMI ปกติ แต่กลับมีพุงยามไม่ใส่สเตย์ (ผอมแต่มีพุง) โดยที่กลุ่มคนที่มีไขมันพุงมากถือเป็นสัญญาณร้ายหรืออาจร้ายกว่าการอ้วนกลมทั้งตัวเสียอีก การใช้ WHtR เพื่อชี้บ่งความอ้วนลงพุงร่วมด้วย จะช่วยชดเชยข้อจำกัดข้อนี้ของ BMI ได้ ในกรณีการคัดกรองเพื่อประเมินปัจจัยเสี่ยงเชิงหัวใจและเมตาบอลิซึม บางตำราก็อ้างว่าค่านี้เป็นตัวชี้วัดที่ดีกว่า BMI หรือการวัดความยาวเส้นรอบวงเอว (waist circumference) เฉยๆด้วยซ้ำไป [3] ทั้งนี้ มีแนวโน้มว่าตัวชี้วัดนี้จะสามารถนำไปใช้ได้แม้ในเด็กและในทุกเชื้อชาติทั่วโลก (แตกต่างจากค่า BMI ที่ยังมีข้อถกเถียงเกี่ยวกับเกณฑ์จุดตัดของชาวเอเชียว่าควรจะแตกต่างจากชาวยุโรปหรือไม่ในการนำไปประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพ) อย่างไรก็ตาม คนส่วนใหญ่มักสะดวกใจต่อการชั่งน้ำหนักมากกว่า เพราะการได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักเป็นรายขีดย่อมตื่นตาตื่นใจวันต่อวัน ดีกว่าการวัดความยาวเส้นรอบวงเอวที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงของตัวเลขได้ช้ากว่ากันมาก สรุปว่าเพื่อความครบถ้วนและแม่นยำเพิ่มขึ้นในการประเมินความอ้วนของร่างกายเรา ควรใช้ทั้งค่า BMI และ WHtR ประกอบกันไปก็แล้วกัน
เชิญเลือกเครื่องมือที่จำเป็นสำหรับการชี้บ่ง
ก่อนอื่นต้องไปหาซื้อเครื่องมือที่ห้างสะดวกซื้อกันก่อน คือ
(1) เครื่องชั่งน้ำหนัก เลือกซื้อแบบเครื่องดิจิตัลก็จะดีกว่าแบบเข็ม เพราะตอนยืนชั่ง พุงมักจะค้ำทำให้มองเห็นเข็มที่ขยับไม่ถนัดนัก เครื่องดิจิตัลเห็นตัวเลขขึ้นเป๊ะๆ แถมสมัยนี้ก็ราคาไม่กี่ร้อยบาท ใช้ไปได้ตลอดชีวิต จึงควรหัดชั่งน้ำหนักเป็นประจำทุกเช้าจะได้ใช้คุ้ม
(2) สายวัดความยาวเส้นรอบวงเอว แบบที่ช่างตัดเสื้อใช้ แบบมีสปริงดูดกลับเองได้ยิ่งดี ซื้อมาพกไว้ในกระเป๋าตลอดเวลา
(3) เครื่องวัดส่วนสูง ไม่ต้องซื้อให้ยุ่งยาก ทำขึ้นเองก็ได้ โดยใช้สายวัดจากข้อที่สองนั่นแหละทาบกับฝาฝนังบ้าน บั้งขีดไว้ ให้คนวัดกันได้ทั้งบ้าน หรือไม่ก็ไปแอบวัดตามโรงพยาบาลหรือตอนทำบัตรประชาชนก็ได้ วัดครั้งเดียวใช้ได้นานเลย ไม่น่าสูงไปกว่านี้แล้วล่ะ
เชิญลงมือวัดเพื่อนำไปเทียบเคียงกับเกณฑ์มาตรฐาน
ส่วนสูงวัดเป็นเซนติเมตร
น้ำหนักตัววัดเป็นกิโลกรัม
ความยาวเส้นรอบวงเอววัดเป็นเซนติเมตร
การตั้งจุดระดับสำหรับวัดความยาวเส้นรอบวงเอว
การเล็งระดับสำหรับวัดความยาวเส้นรอบวงเอวนั้น ควรตั้งค่าระดับที่ “จุดกึ่งกลางระหว่างปลายล่างสุดของชายโครงกับปุ่มบนสุดของตะโพก (the lower rib and iliac crest)” [4] และควรวัดขณะหายใจออกสุด (เบาๆ) ตำแหน่งที่ว่านั้นสำหรับคนที่พุงย้อยมักไม่ใช่ตำแหน่งสะดือเสียเลยทีเดียว อีกประการ ไม่ควรต้องลำบากในการขอเปิดดูสะดือกันก่อนวัด ดังนั้น เพื่อให้การแปลผลแม่นยำช่วยวัดที่ระดับตามที่กำหนดให้จะดีกว่า
เชิญเตรียมทำใจในผลที่จะได้รับ
ผลการชี้บ่งที่ แพทย์ พยาบาล หรือผู้ชี้บ่งคนอื่นๆ จะแจ้งแก่ท่านนั้น แม้จะไม่สามารถเทียบเคียงเท่ากับการแจ้งข่าวร้าย (เช่น การแจ้งผลการเป็นหรือไม่เป็นมะเร็งขั้นต่างๆ) ได้ก็ตาม และแม้ว่าการวัดเพื่อการชี้บ่งนี้จะยังมีข้อจำกัด แต่สิ่งสำคัญก็คือ ท่านไม่ควรจะตั้งเกณฑ์ความอ้วนผอมเองตามอำเภอใจ
เอาล่ะ... เราจะขอพักเบรก เพื่อไปเตรียมตัวก่อนก่อนมาแจ้งข่าวนี้แก่ท่าน ท่านจะได้มีเวลาทำใจ ให้พร้อมยอมรับต่อความเป็นจริงที่อาจจะเกิดขึ้นเสียก่อน
อรพินท์ มุกดาดิลก
9 มกราคม 2556
ปรับปรุง 24 ม.ค. 60
เอกสารอ้างอิง
[1] Ayvaz G, Cimen AR. Methods for Body Composition Analysis in Adults. Open Obes. 2011;3:62-69. http://www.benthamscience.com/open/toobesj/articles/V003/SI0056TOOBESJ/62TOOBESJ.pdf
[2] Lim LL, Seubsman SA, Sleigh A. Validity of self-reported weight, height, and body mass index among university students in Thailand: Implications for population studies of obesity in developing countries. Popul Health Metr.2009 Sep 25;7:15. http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/19778455
[3] Ashwell M, Gunn P, Gibson S. Waist-to-height ratio is a better screening tool than waist circumference and BMI for adult cardiometabolic risk factors: systematic review and meta-analysis. Obes Rev. 2012 Mar;13(3):275-86. Epub 2011 Nov 23 http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/22106927
[4] Ashwell M, Browning LM. The increasing importance of Waist-to-Height Ratio to assess cardiometabolic risk: a plea for consistent terminology. Open Obes. 2011;3:70-77. http://www.benthamscience.com/open/toobesj/articles/V003/SI0056TOOBESJ/70TOOBESJ.pdf