ภาษีอ้วน
ภาษีอ้วน (Fat Tax) เป็นคำที่เรียกตามความหมายของมาตรการการจัดเก็บภาษีอาหารที่ก่อความอ้วน (obesogenic foods) ที่มีเรียกกันในต่างประเทศ ทั้งนี้อาหารที่ก่อความอ้วน ไม่ใช่ fat หรือไขมันเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงอาหารหรือเครื่องดื่มหรือวัตถุดิบที่มีไขมันสูงหรืออาหารที่เป็นแหล่งที่ให้พลังงานสูงและทำให้คนอ้วนขึ้นได้โดยง่ายเมื่อบริโภคเป็นประจำ มักมีรสชาติหวานจัด มันจัด และเค็มจัด อันจะกระตุ้นให้เกิดความอยากอาหารได้เพิ่มขึ้น โดยมี น้ำตาล ไขมันชนิดไม่ดี และ/หรือ เกลือโซเดียม ในปริมาณสูงเกิน
ประเทศไทยยังไม่เคยมีการจัดเก็บภาษีเพื่อจำกัดการบริโภคในสินค้าประเภทอาหารมาก่อน
ภาษีเกี่ยวกับสุขภาพที่เคยเก็บกัน ก็มีแต่ภาษีเหล้าและบุหรี่ที่เรียกกันว่าภาษีบาป (sin tax)
ก่อนอื่น ควรมาเห็นพ้องร่วมกันก่อนว่า เรื่องอ้วนอาจไม่ใช่เป็นแค่ปัญหาส่วนบุคคลแล้ว แต่เป็นประเด็นเชิงเศรษฐกิจและสังคม และที่ผ่านมาแสดงให้เห็นแล้วว่าวิธีการทางการแพทย์ “ไม่ได้ผล”
คนจนเดี๋ยวนี้ไม่ผอมแล้ว กลับอ้วน เนื่องจากมีกำลังซื้อได้แต่อาหารที่อุดมด้วยแป้งและไขมันชนิดไม่ดี (กินแล้วหนักท้องดี) ความอ้วนจึงเป็นปัญหาของผู้มีรายได้น้อย ที่กลับได้รับคำแนะนำระดับผู้มีรายได้ปานกลาง เช่น ควรเข้าฟิตเนส กินผัก กินผลไม้ กินปลา (กินแล้วไม่อิ่มท้อง) แถมแพงกว่ามากเลย
มุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ที่ฟังพออมยิ้มกล่าวว่า รัฐหาความชอบธรรมให้กับตนเองในการเข้ามาแทรกแซงได้เมื่อกลไกทางการตลาดล้มเหลว ในกรณีการระบาดของความอ้วนนั้น พบความล้มเหลวของกลไกทางการตลาด 3 ข้อ คือ ข้อแรก“มีความไม่สมบูรณ์ของข้อมูล” ในเมื่อประชาชนเลือกไม่ถูก เพราะไม่รู้ว่าสัดส่วนน้ำตาล ไขมัน เกลือในอาหาร เป็นเท่าไร รัฐก็จะช่วยปะฉลาก เพื่อประกาศว่ากลไกทางการตลาดนั้นล้มเหลวให้ไง ข้อสอง “มีตัวกวนระบบ” ในเมื่อผู้คนตัดสินใจจะนั่งบนโซฟากินแต่มันฝรั่งทอดกันทั้งวันส่งผลให้ทุกคนต้องมามีส่วนร่วมด้วยช่วยจ่ายเงินค่าประกันสุขภาพให้ การจะเน้นให้ผู้คนได้เห็นข้อเท็จจริงนี้ (ไม่ว่าการกระทำนั้นจะสุภาพหรือไม่ก็ตาม) คือ การขึ้นอัตราประกันสุขภาพในผู้มีน้ำหนักเกิน และ ข้อสุดท้าย “มีความไม่สมบูรณ์ของการใช้เหตุผลในการตัดสินใจ” ในเมื่อผู้คนตัดสินใจไม่สมเหตุสมผลรัฐก็ต้องก้าวล่วงเข้ามายุ่ง รัฐมักเกรงใจไม่ค่อยจะกล้าว่าผู้ใหญ่ แต่ไม่ลังเลเลยที่จะกล่าวหาว่า เด็กๆไม่โตพอที่จะตัดสินใจเองอย่างมีเหตุมีผลได้ จึงมักตั้งมาตรการบังคับการกินอาหารว่างในโรงเรียนกับเด็กๆ [1]
ก็ในเมื่ออาหารบางชนิดทำลายสุขภาพ รัฐก็ต้องขึ้นภาษี! (อันที่จริง รัฐก็จะได้มีรายได้)
มีหลักฐานไหมว่าถ้ารัฐเก็บภาษีแล้วคนจะตายน้อยลง?
Marshall T. เป็นผู้เปิดประเด็นว่า มาตรการการเพิ่มภาษีในอาหารไขมันอิ่มตัวสูง จะส่งผลให้อุบัติการณ์โรคหัวใจขาดเลือดลดลงได้ โดยอ้างข้อมูลว่า ค่าไขมันคอเลสเตอรอลในเลือดสัมพันธ์กับอาหารที่กินและทำให้เกิดภาวะหัวใจขาดเลือดได้ เขาใช้โมเดลการคำนวณและเสนอว่า ถ้ากำหนดภาษีมูลค่าเพิ่มที่ 17.5% ในอาหารที่คนอังกฤษกินกันบ่อยและเป็นต้นตอของไขมันอิ่มตัวเกินกว่า 40% จะสามารถป้องกันโรคหัวใจขาดเลือดได้ 1000 ชีวิตต่อปี [2] คือ เมื่อไม่กินก็จะไม่ตาย ผู้ที่แย้งมาตรการทางภาษีนี้อ้างว่า โรคนี้เกิดได้จากหลายปัจจัย ไม่ควรจะมาโทษแพะ (หมายถึงไขมันอิ่มตัว) เพียงตัวเดียว [3] ขณะที่ผู้มีหน้าที่จะเก็บภาษี (ให้ได้) ก็อาจจะเถียงต่ออีกก็ได้ว่า ก็อุตส่าห์ทำความซับซ้อนให้เป็นตัวแปรที่วัดผลได้เพียงตัวเดียวแล้ว จะไม่ให้จี้เก็บเงินตามหลักฐานที่มีอยู่ได้อย่างไร
จึงมีความพยายามจะกำหนดนิยามของอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพขึ้น เช่น การศึกษาหนึ่งเสนอการนิยามด้วย โมเดล WXYfm nutrient profiling ว่า หากเก็บภาษีในอาหารกลุ่มนี้กลับจะเพิ่มการตายจากกลุ่มโรคนี้ถึง 35-1300 รายต่อปีแต่ถ้าเก็บภาษีโดยพร้อมกับนำเงินที่เก็บได้ 17.5% ไปอุดหนุนการกินผักและผลไม้ จะเปลี่ยนกลุ่มโรคนี้ให้ฟื้นได้ถึง 2,900 การตายต่อปีและยิ่งถ้าเก็บภาษีโดยทุ่มเงินรายได้ทั้งหมดไปอุดหนุนการกินผักและผลไม้ ยิ่งจะพลิกฟื้นได้อีกถึง 6,400 การตายต่อปี (avert up to 6400 CVD and cancer deaths yearly) [4] คิดดูเถอะ เพื่อเห็นแก่ภาษีคนตายยังฟื้นได้เลย หรืออีกการศึกษาหนึ่งที่เสนอให้นิยามด้วย SSCg3d score พบว่าหากเก็บภาษีในอาหารกลุ่มนี้ อาจลดอัตราการตายจากโรคหัวใจหลอดเลือดได้ โดยส่วนใหญ่เป็นผลจากการลดการกินเกลือ และหากยิ่งเก็บหว่านให้กว้างยิ่งขึ้น ก็จะยิ่งลดการเสียชีวิตจากโรคดังกล่าวได้มากขึ้นอีก (การตายลดลง 1.7%) แต่ถ้าไปเก็บภาษีเฉพาะอาหารที่มีส่วนประกอบของไขมันอิ่มตัว จะไม่สามารถลดโรคได้ เนื่องจากคนจะหันไปกินเกลือกันมากขึ้นแทน [5]
ส่วนเก็บภาษีแล้วได้ผลสักแค่ไหนนั้น การทบทวนข้อมูลอย่างเป็นระบบเพื่อประเมินผลต่อระดับประชากรในเรื่องของภาษีอาหารและการให้เงินอุดหนุน พบว่า ภาษีมีแนวโน้มจะก่อให้เกิดการบริโภคอย่างมีสุขภาพขึ้น แต่คุณภาพของหลักฐานยังอ่อนอยู่ ส่วนประเทศกำลังพัฒนายังไม่มีการศึกษาในเรื่องนี้มากนัก [6]
มีประเทศไหนในโลกที่เก็บภาษีอ้วนกันบ้าง?
ปลาย พ.ศ. 2554 ประเทศเดนมาร์ค เป็นประเทศแรกในโลก ที่ประกาศปรับขึ้นภาษีอาหารที่มีไขมันสูงและทำให้คนอ้วนขึ้น มีเป้าหมายเพื่อจำกัดการบริโภคอาหารไขมันชนิดไม่ดีของประชาชน โดยอาหารประเภทเนย นม ชีส พิซซ่า เนื้อ น้ำมัน และอาหารสำเร็จรูป หากมีไขมันอิ่มตัวเกิน 2.3% ก็เตรียมตัวถูกเก็บภาษีได้ [7] มีคนทักท้วงอยู่บ้างว่า น่าจะผิดเป้าหมาย ควรไปเก็บใน น้ำตาล แป้งขัดขาว หรือเกลือ มากกว่า
“ถ้าสมมุติว่าประเทศของเราจะมีภาษีอ้วน”
การจัดเก็บภาษีเพื่อจำกัดการบริโภคในสินค้าประเภทอาหารนั้น ยังมีข้อทักท้วงต่างๆนานาอยู่มาก
อีกทั้งการเก็บภาษีในสินค้าอาหารสำเร็จรูป ก็คงได้เงินไม่เท่าไรดอก เมื่อเทียบกับภาษีเหล้าตัวอย่างเช่น การศึกษาการเก็บภาษีพิเศษในน้ำอัดลมหรืออาหารว่างขบเคี้ยวที่มีใน 18 รัฐและ 1 เมืองใหญ่ของสหรัฐอเมริกานั้น ได้เงินแค่ 1 พันล้านดอลล่าร์ต่อปี [8] หรือ 3 หมื่นล้านบาทเอง แต่กว่าจะได้เงินแค่นี้ รัฐต้องวิ่งไล่เก็บเงินและฟังเสียงก่นบ่นจากตั้ง 18 รัฐ (ที่เทียบขนาดเท่าประเทศไทยสัก 3-10 ประเทศกระมัง)
คิดดูเถิด เก็บภาษีอาหารสำเร็จรูปเหนื่อยกันเกือบตาย แต่ได้เงินมากกว่า ‘เงินบำรุงกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 2% ของภาษีสุรา ที่บริษัทเหล้าในประเทศไทยประเทศเดียวต้องจ่ายเพิ่มจากภาษีสุราทั้งระบบ (เหล้ารวมเบียร์) ประมาณ 1.1 แสนล้านบาท’ [9] แค่นิดเดียวเอง ช่างไม่คุ้มเหนื่อยเสียเลย
จึงหากจะเก็บภาษีเสียให้เรียบ ทั้งภาษี “วัตถุดิบประเภท น้ำตาลทราย ไขมันไม่ดี และเกลือ” จนครอบคลุมถ้วนทั่ว อาจปฏิบัติได้ง่ายกว่า เพราะเป็นส่วนประกอบที่จะผลิตอาหารจากที่ใด ไม่ว่าจะเป็นโรงงานอุตสาหกรรม ภัตตาคาร ร้านค้าแผงลอย หรือครัวเรือน ก็ใช้เหมือนกัน แม้มีผลกระทบถึงราคาอาหารโดยรวมในวงกว้าง แต่ก็เป็นเหตุเป็นผลโดยตรง คือควรปรุงอาหารให้ “หวานมันเค็ม” น้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “น้ำตาล” ยังไม่มีภาษีสรรพสามิตเพื่อจำกัดการบริโภคเลย ส่วนการกำหนดอัตราภาษีที่เหมาะสม คงต้องให้นักเศรษฐศาสตร์ผู้รับผิดชอบและชำนาญวิถีชีวิตไทยในเรื่องเหล่านี้จำลองสถานการณ์เพื่อคำนวณหาอัตราที่คาดว่าจะลดการบริโภควัตถุดิบประเภท น้ำตาลทราย ไขมันไม่ดี และเกลือ ลงได้อย่างมีนัยสำคัญ ในขณะที่เกิดผลกระทบในระดับที่ยอมรับได้ และเกิดปัญหาการเลี่ยงภาษีหรือลักลอบนำเข้าวัตถุดิบราคาถูกในระดับที่คุมอยู่
การเสนอวิธีการจัดเก็บภาษีเพื่อจำกัดการบริโภคย่อมต้องถูกผู้บริโภคโวยวายเป็นธรรมดา แต่ที่ใดมีคำถาม ที่นั่นย่อมมีกระบวนการหาคำตอบ อันจะนำมาซึ่งความแตกฉานเรื่องสุขภาพ (health literacy)
ภาษีจึงควรถูกบังคับใช้ด้วยความคาดหวังว่า จะช่วยทำให้ ผู้บริโภคมีศักยภาพในการเลือกอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพได้ดีขึ้นเป็นสำคัญ
นี่คือความงดงามแห่งภาษีเพื่อสุขภาพ
อรพินท์ มุกดาดิลก
8 มกราคม 2556
ปรับปรุง 26 ม.ค. 60
เอกสารอ้างอิง
[1] McCarthy M. The economics of obesity. Lancet. 2004 Dec 18-31;364(9452):2169-70. http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/15614941
[2] Marshall T. Exploring a fiscal food policy: the case of diet and ischaemic heart disease. BMJ.2000 Jan 29;320(7230):301-5. http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/10650031.1
[3] O'Rourke A. VAT and fat. Will sales tax influence consumption? BMJ. 2000 May 27;320(7247):1469; author reply 1470. http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/10877558
[4] Nnoaham KE, Sacks G, Rayner M, Mytton O, Gray A. Modeling income group differences in the health and economic impacts of targeted food taxes and subsidies. Int J Epidemiol. 2009 Oct;38(5):1324-33. Epub 2009 May 29. http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/19483200
[5] Mytton O, Gray A, Rayner M, Rutter H. Could targeted food taxes improve health? J Epidemiol Community Health. 2007 Aug;61(8):689-94. http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/17630367
[6] Thow AM, Jan S, Leeder S, Swinburn B. The effect of fiscal policy on diet, obesity and chronic disease: a systematic review. Bull World Health Organ. 2010 Aug 1;88(8):609-14. Epub 2010 Feb 22. http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/20680126
[7] Denmark introduces world's first food fat tax: in BBC news Europe. [online] 2011 October 11 [cited 2012 July 5]; http://www.bbc.co.uk/news/world-europe-15137948
[8] Jacobson MF, Brownell KD. Small taxes on soft drinks and snack foods to promote health. Am J Public Health. 2000 Jun;90(6):854-7. http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/10846500
[9] กรมสรรพสามิต. สถิติภาษี: ภาพรวมเปรียบเทียบ แยกตามสินค้ารายปี. [ออนไลน์] เม.ย. 2555 [เข้าถึงเมื่อ 10 กรกฎาคม 2555]; https://edweb.excise.go.th/stastw/CompareOverAllTaxStatisticByProdYearAction.do
-
fat food tax