ดริงค์ ดูเรียน แอนด์ เด๊ด
ขนาดของ “การดื่ม 1 หน่วยมาตรฐาน (a standard drink)” ถูกนิยามไว้แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศหรือแม้แต่ในประเทศเดียวกัน ทั้งนี้ พบว่านักดื่มมักจะบอกปริมาณการดริงค์ของตนเองไว้ต่ำกว่าจริง เช่น บอกว่าดื่มแค่ 40-60% ของที่คาดว่าดื่มไป [1] อันดับแรก จึงควรกำหนด “หนึ่งดริงค์” ให้ตรงกันก่อน เพราะการจะคะเนว่านักดื่มผู้ใดดื่มแอลกอฮอล์ไปมากหรือน้อย หรือดื่มไปในระดับที่เป็นภัยชัดแจ้งแล้วหรือยัง หากมีหน่วยมาตรฐานที่จะช่วยคำนวณปริมาณแอลกอฮอล์ จะเป็นตัวช่วยชี้บ่งปริมาณหรือระดับของการดื่มในแต่ละครั้งของผู้นั้น (ด้วยตนเอง) ได้แม่นยำและดีกว่าการให้คุณตำรวจมาดักใช้เครื่องเป่าลมหายใจช่วยคะเนให้ด้วยแต่เพียงอย่างเดียว
การดริงค์ 1 หน่วยมาตรฐาน
การดริงค์ 1 หน่วยมาตรฐาน เท่ากับ เบียร์ 1 ขวด (330 มล. ที่ 5% แอลกอฮอล์) ไวน์ 1 แก้ว (140 มล. ที่ 12% แอลกอฮอล์) และ เหล้า 1 ช็อต (40 มล. ที่ 40% แอลกอฮอล์) เมื่อคะเนเป็นจำนวนของแอลกอฮอล์ จะประมาณ 10-13 กรัม [2]
การประยุกต์หน่วยดริงค์มาตรฐานมาใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม ปรากฏในคำแนะนำเพื่อการดื่มอย่างมีสติ ให้นักดื่มได้สังวรเกี่ยวกับการขับขี่ยวดยาน ที่พบว่าหากบริโภคสุราเกิน 1 ดริงค์ต่อวันในผู้หญิง และเกิน 2 ดริงค์ต่อวันในผู้ชาย จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางยวดยานได้ [3] ในคนอเมริกันจึงมีคำแนะนำแกมบังคับว่า เพื่อคงค่าระดับความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในเลือด (blood alcohol concentration; BAC) ให้ไม่เกินเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด คือ น้อยกว่าหรือเท่ากับ 0.05% นั้น ไม่ควรจะดื่มเกินปริมาณที่กล่าวไป [4] ทั้งนี้ กฎหมายไทยก็ไม่แตกต่างกัน จึงมีนักวิจัยไทยทำการทดลองแล้วพบว่า ปริมาณการดื่มดังกล่าวก็น่าจะพอประยุกต์ใช้ได้กับคนไทย [4] แม้จะมีสรีระร่างกายเล็กกว่าก็ตาม
เพดานความเสี่ยงจากการดริงค์ใน 1 สัปดาห์
ค.ศ.2010 สมัชชาสุขภาพโลก (World Health Assembly) ได้ตกลงใจที่จะลงนามยอมรับยุทธศาสตร์โลกที่จะสนับสนุน การลดการใช้หรือดื่มแอลกอฮอล์อย่างเป็นภัย (harmful use of alcohol) ลง [5]
การดื่มแอลกอฮอล์อย่างเป็นภัย คือ รูปแบบการใช้หรือดื่มในระดับที่ทำลายสุขภาพกายและใจ รวมทั้งมักจะก่อผลกระทบต่อสังคม [6] อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบัน ระบบข้อมูลข่าวสารแอลกอฮอล์และสุขภาพขององค์การอนามัยโลก (WHO-based Global Information System on Alcohol and Health) ก็คงยังประกาศว่า กำลังดำเนินการอยู่ [5] (แปลว่าทำยังไม่เสร็จเสียที) ในการพัฒนาเครื่องชี้วัดนี้
พฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ของนักดื่มนั้น ค่อนข้างจะซับซ้อน ยกตัวอย่างลักษณะ “การดื่มใน 1 สัปดาห์ (a week’s drinking)” เช่น จะดื่มกับลูกค้าหลังเลิกงาน 1 ดริงค์ในวันจันทร์ ดื่มตอนกินข้าวเย็นที่บ้าน 2 ดริงค์ในวันจันทร์ อังคาร และพฤหัสบดี โดยหยุดดื่มวันพุธ ดื่มกับเพื่อนในงานปาร์ตี้ 8 ดริงค์ในคืนวันศุกร์ ดื่มยามเอนหลังผ่อนคลายที่สนามหญ้าหลังบ้าน 2 ดริงค์ในตอนบ่ายวันเสาร์ และตอนออกไปกินข้าวนอกบ้านกับเพื่อนอีก 4 ดริงค์ในตอนหัวค่ำวันเสาร์ และจะงดดื่มในวันอาทิตย์ [1] จึงจะเห็นได้ว่า การจะกะเกณฑ์ให้นักดื่มคะเนค่าเฉลี่ยของการดื่มต่อวันของตนเองนั้น ไม่สามารถทำได้โดยง่าย
ด้วยว่านักดื่มได้พยายามทำตัวให้ซับซ้อนดังกล่าว การจะคอยนับจำนวนดริงค์ อาจให้ผลกำกวมว่าพวกเขาเหล่านั้นดื่มจัดในระดับที่เป็นภัยแล้วหรือยัง จึงควรใช้การสังเกตสัญญาณเตือนภัยอื่นร่วมด้วย ตัวอย่างอาการเตือนที่สำคัญคือ แบล็คเอ้าท์ (blackouts) ที่ประเมินได้ด้วยการให้นักดื่มตอบคำถามว่า “เมื่อปีที่แล้ว มีบ่อยครั้งแค่ไหนที่ท่านไม่สามารถจะจำได้ว่า ในคืนก่อนหลังจากที่ท่านเพิ่งไปดื่มมานั้น เกิดอะไรขึ้น?” [2] (เรียกง่ายๆในภาษาของเราว่า “อาการดริงค์สติแตก”) โดยมีการจัดนักดื่มที่มีอาการเหล่านี้เกิดขึ้นบ่อย ให้อยู่ในกลุ่มของการดื่มในระดับที่เป็นภัยได้ [2]
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าคำตอบจะเป็นอย่างไร เราเห็นว่า ก็ยังอาจจะเป็นคำตอบที่ให้ผลไม่แม่นยำนัก ก็คิดดูเถิดว่า “หากจดจำไม่ได้เลย” แล้วจะจำได้อย่างไรว่า เราจำอะไรไม่ได้เลยในคืนก่อน
องค์การอนามัยโลก (World Health Organization; WHO) ได้นิยามผู้ที่มีการดื่มในรูปแบบที่เสี่ยง (hazardous pattern) เช่น “นักดื่มหนักเป็นครั้งคราว (heavy episodic drinkers)” ว่าหมายถึง ผู้ที่อายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป ที่บริโภคแอลกอฮอล์ ตั้งแต่หรือมากกว่า 60 กรัมขึ้นไป อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง ที่เทียบเท่ากับการดื่มแอลกอฮอล์ 6 หน่วยมาตรฐาน [7] ดังกล่าวไปข้างต้น
หากแปลงให้เข้าใจง่าย คือ อย่าเสี่ยงจัดไปจนถึงระดับ 6 ดริงค์ต่อสัปดาห์ ทั้งนี้ พึงตระหนักว่า ภัยนั้นมีอยู่ตั้งแต่เริ่มดื่มแล้ว แต่จะคุกคามท่านในระยะประชิดยิ่งขึ้น โดยเฉพาะถ้าดริงค์เลยเถิดไปจนถึงระดับ 6 ดริงค์ จึงควรหยุดการดื่มแต่ละหนลงให้ได้ ก่อนจะถึงเพดานบนของความเสี่ยง หรือก่อนจะถึงระดับดริงค์ที่ 6 หรือที่ 7
อนึ่ง นักดื่มบางท่านอาจจะขอต่อรอง ด้วยการยกเกณฑ์กลางมาอ้างว่า ในเมื่อมีการอนุญาตให้เพดานการดื่มของผู้ชายไปได้ถึง 2 ดริงค์ต่อวัน และผู้หญิงไปได้ถึง 1 ดริงค์ต่อวัน [3] จึงจะขอดื่มให้ได้ถึงไม่เกิน 7-14 ดริงค์ในวันเดียวของสัปดาห์นั้นเลย (เก็บไว้ดื่มฉลองรวดเดียว) จะได้หรือไม่? ถึงแม้เราจะอยากผ่อนผันให้ แต่เกณฑ์ดังที่ท่านยกมาอ้างนั้น มีไว้ใช้สำหรับ “การดื่มต่อวันเดียว (single day)” [3] ไม่สามารถอนุโลมให้ท่านนำมาปรับใช้สำหรับฝากแบบสะสมทรัพย์ได้ อีกทั้งท่านควรจะมีเครดิต ด้วยการสร้างระยะปลอดภัย (safety zone) เผื่อไว้ด้วย เผื่อดื่มไปแล้วเกิดอาการแบล็คเอ้าท์ จำไม่ได้ว่าดื่มไปแล้วกี่แก้ว จะได้ไม่ดื่มเกินไง
เพดานบนของความเสี่ยง คือ “เสี่ยงจัด” ถ้าถึง 6 ดริงค์ต่อสัปดาห์ จึงถือเป็นเกณฑ์เพื่อเตือนให้ทัน ก่อนภัยจะมาประชิดตัวท่านได้เป็นสำคัญ
ดริงค์ แอนด์ ดูเรียน
ไม่ว่านักวิชาการโลกจะขู่เรื่อง ภัยจากแอลกอฮอล์ หรือภัยจากการดริงค์สติแตก กันปากเปียกปากแฉะสักแค่ไหนก็ตาม นักดื่มพันธุ์แท้หาได้ใส่ใจไม่
สิ่งที่หมู่นักดื่มพรั่นพรึงกันมากกว่า คือ คำเตือนที่ว่า “กินเหล้าพร้อมทุเรียนอาจถึงตายได้”
ตามธรรมดาการดื่มหลังกินอาหารมื้อหนักน่าจะปลอดภัยกว่าการดื่มตอนท้องว่าง [4] เพราะการกินอาหารด้วยจะทำให้ระดับปริมาณแอลกอฮอล์ในกระแสเลือดไม่พุ่งสูงเร็วนัก แต่การที่กินทุเรียนกลับให้ผลตรงกันข้ามนั้น เดาเอาว่า คงเพราะสารเคมีในทุเรียนทำให้กลไกการทำลายพิษของเหล้าในกระแสเลือดเป็นไปได้ช้ากว่าที่เคย แล้วทั้งเหล้าทั้งทุเรียนก็แข่งกันปล่อยพลังงานออกสู่กระแสเลือดได้เร็วและสูงด้วยกันทั้งคู่ ถ้ากินพร้อมกันคงทำให้คนกินร้อนประมาณจุดระเบิดกระมัง
หลักฐานที่พิสูจน์ถึงความหวาดหวั่นแต่ยังอยากรนหาที่ดื่มของบรรดานักดริงค์แอนด์ดูเรียนเหล่านี้ เชิญหาอ่านกันเอาเองตามเน็ต [8],[9],[10] เราไม่สามารถร่วมวงด้วยได้ในกรณีนี้
ดริงค์ แอนด์ เด๊ดสะมอเร่
ความเห็นสั้นๆ สำหรับ “นักดื่มกลุ่มดูเรียน” คือ ท่านจะดริงค์มากหรือดริงค์น้อย ท่านจะดริงค์ตามหน่วยมาตรฐานหรือหน่วยไม่มาตรฐานก็ตาม ก็อาจมีเหตุเภทภัย ที่ทำให้ท่านมีโอกาสเด๊ดสะมอเร่ได้ในทุกดริงค์ไปก็แล้วกัน
จึงไม่จำเป็นต้องมานั่ง นับดร๊งค์ นับดริงค์ ให้เมื่อยกันอีกแล้ว!
อรพินท์ มุกดาดิลก
1 มกราคม 2556
ปรับปรุง 23 ม.ค. 60
เอกสารอ้างอิง
[1] WHO Global Status Report on Alcohol 2004. [online] [cited 2012 December 8]; http://www.who.int/substance_abuse/publications/alcohol/en/
[2] Babor T., Higgins-Biddle J., Saunders J, Monteiro M. The alcohol use disorders identification test, 2nd ed. WHO; 2001. [online]; http://www.who.int/substance_abuse/publications/alcohol/en/
[3] U.S. Department of Health and Human Services. Dietary guidelines for Americans, 2005. [online] 2008 [cited 2012 December 9]; http://www.alcoholtoolkit.org/alcohol_consumption_scroll.html#o
[4] Lekskulchai V, Rattanawibool S. Blood alcohol concentrations after "one standard drink" in Thai healthy volunteers. J Med Assoc Thai. 2007 Jun;90(6):1137-42. http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/17624208
[5] Alcohol fact sheet. [online] 2011 February [cited 2012 December 8]; http://www.who.int/mediacentre/factsheets/fs349/en/index.html
[6] Babor T., Campbell R., Room R., Saunders J. Lexicon of Alcohol and Drug Terms. WHO; 1994. [online]; http://www.who.int/substance_abuse/terminology/who_ladt/en/index.html
[7] News: Governments confront drunken violence. Bull World Health Organ. 2010;88:644–645. http://www.who.int/bulletin/volumes/88/9/10-010910/en/
[8] กินทุเรียนกับเหล้าจะเกิดอะไรขึ้น; http://www.thaiagclub.com/home/index.php?topic=2659.0;wap2
[9] Durian plus alcohol can actually kill; http://www.medindia.net/news/Durian-Plus-Alcohol-can-Actually-Kill-58294-1.htm
[10] Combination of durian and alcohol kills or not?; http://darrenmagic.blogspot.com/2008/07/combination-of-durian-and-alcohol-kills.html