องค์รวม
งานทบทวนวรรณกรรมเพื่อกำหนดนิยาม “สุขภาวะองค์รวม” ของโครงการชื่นชีวิตจิตใจ
องค์รวม
คำตัวแทน
องค์รวม (holism) เป็นคำที่มีความเฉพาะตน และไม่มีคำอื่นที่จะใช้แทนคำนี้ได้
อาจมีผู้อธิบายความโดยใช้คำอื่นแทน เช่น ระบบ (system) หนึ่งเดียว (oneness) ที่แบ่งแยกไม่ได้ (inseparable) บูรณาการ (integration) โยงใยระหว่างกัน (interconnection) สหวิทยาการ (interdisciplinary) ทางเลือก (alternative) หรือคำอื่นๆ แต่ไม่ว่าจะใช้คำใด ก็ไม่สามารถแทนคำ องค์รวม ได้สมบูรณ์ โดยเฉพาะเมื่อมีการนำมากล่าวถึง สุขภาวะองค์รวม (holism of health)
ทั้งนี้ การลดทอน (reductionism) หรือแยกส่วน (fragmentation) แม้นำมารวมกันใหม่ให้ครบทุกมิติ ก็ยากที่จะได้ผลเป็นองค์รวม เนื่องจากว่า ความเป็นองค์รวม ต้องคำนึงถึงลักษณะจำเพาะในรูปของพลังงานที่มีปฏิสัมพันธ์กัน มีอย่างต่อเนื่อง และมีกับสิ่งแวดล้อมด้วย
องค์รวมจึงไม่ควรใช้ปะปนกับเหมารวม สิ่งสำคัญคือ องค์รวมจะต้องชัดไปหมดทั่วตลอดประดาองค์ร่วมที่ดำรงอยู่และดำเนินไปในความสัมพันธ์กันนั้น แต่เหมารวมจะเห็นพร่าและคลุมเครือ จึงพึงระวังกรณีเช่นนี้ว่าไม่ดีจริงดอก [1]
ปฐมบท
องค์รวมไม่ได้มียุคสมัยเป็นจุดเริ่มต้น ความหมายของคำนี้มักพบผ่านเรื่องราวทางศาสนาที่เชื่อมโยงความเกี่ยวข้องสัมพันธ์สรรพสิ่งทั้งมวลกับมนุษยชาติ
อริสโตเติล (384-322 ปีก่อนยุคปัจจุบัน) กล่าวในภาษากรีกว่า “ความเป็นองค์รวมจะเกิดคุณค่าใหม่ที่แตกต่างไปจากส่วนประกอบ หรือ a whole of some sort distinct from the parts และต่อมาถูกรวบรวมไว้ในหนังสือปรัชญาจากความจริงในธรรมชาติ หรือ Metaphysics, book VIII, part 6, 1045a (คัดลอกคำแปลภาษาอังกฤษจาก Loeb classical library, เข้าถึงแหล่งข้อมูลเมื่อ พ.ศ. 2560) หลักการนี้ปรากฏในคำว่า “holism” ในยุคถัดมา แต่ทั้ง นักบวช ปรัชญา นักฟิสิกส์ นักคณิตศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ นักมนุษยวิทยา นักนิเวศวิทยา นักการศึกษา หรือนักการแพทย์และพยาบาล ก็ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นคำแปลกใหม่
ตัวอย่างเช่น องค์รวมอาจถือว่าตรงกันข้ามกับอตอม โดยอตอมเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดของสสาร ไม่มีโครงสร้างรวมแบบโมเลกุล จึงถือว่าโมเลกุลว่ามีลักษณะใกล้เคียงกับองค์รวมบ้าง คือ มีพันธะยึดโยง (bonding) ระหว่างองค์ประกอบที่เล็กที่สุด มีความสัมพันธ์กับองค์ประกอบย่อย และจะมีความหมายก็ต่อเมื่อรวมกันเป็นหนึ่งเดียว (as a whole) เช่น H 2 ตัว รวมกับ O 1 ตัว ได้เป็นความหมายใหม่ คือ น้ำ (H2O) ฉะนั้นการอยู่ใกล้กัน โดยมิได้เกิด คุณค่าใหม่ หาใช่องค์รวมไม่
วิวัฒนาการ
ค.ศ. 1926 (พ.ศ. 2469) เจซี สมุทซ์ เผยแพร่แนวคิดองค์รวม [2] ทำให้มีการตีความต่อยอดไปอีกหลากหลาย อาจจะไม่ตรงกับคำกล่าวต้นกำเนิดเสียทีเดียวนัก และค่อนไปในความหมายของการเสริมแรงกัน (synergy) เช่น 1 + 1 ได้มากกว่า 2
ค.ศ. 1946 (พ.ศ. 2489) นิยามแรกของคำว่า “สุขภาพ (health)” โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ประกาศในธรรมนูญ คือ “สุขภาพ หมายถึง ภาวะหนึ่ง ที่สมบูรณ์อันเดียวกัน ของสุขภาวะทางกายภาพ จิตใจ และสังคม และที่ไม่ใช่แค่เพียงปราศจากโรคหรือความไม่มั่นคงปลอดภัย (Health is a state of complete physical, mental and social well-being and not merely the absence of disease or infirmity. [3])”
ค.ศ. 1859-1952 (พ.ศ. 2402-2495) จอห์น ดุย ผู้นำของยุคก้าวหน้าทางการศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกา เสนอหลักในการพัฒนาเด็ก แบบพัฒนาคนทั้งคน ไว้ 4 ด้าน คือ physical (ทางกาย) mental (มีผู้แปลเป็นไทยว่า ทางจิตใจ) emotion (มีผู้แปลว่า ทางอารมณ์) และ social (ทางสังคม) [1]
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต) ได้กล่าวถึง สุขภาวะองค์รวมแนวพุทธ โดยเห็นว่า การแปลคำ emotion ว่า “อารมณ์” เป็นจุดที่ทำให้ไขว้เขว (เคยมีการจะใช้ศัพท์บัญญัติว่า “อาเวค” แทน) โดยตั้งข้อสังเกตในภาษาที่ฝรั่งใช้กันอยู่ว่า เมื่อ mind คู่กับ emotion หรือ mental คู่กับ emotional แสดงให้เห็นว่า ฝรั่งใช้คำว่า mind หรือ mental ไปทางด้านความคิด ด้านสมอง หรือด้านสติปัญญาอยู่แล้ว และฝรั่งใช้คำว่า emotion หรือ emotional ไปทางด้านภาวะของจิต สภาพจิต หรือด้านความรู้สึก เป็นเรื่องของจิตใจ [1] จึงสะท้อนให้เห็นถึง ความแยกกันไม่ขาดกันเชิงถ้อยความ ขึ้นกับภูมิหลังของผู้ตีความแต่ละชาติ แต่ละศาสนา ทั้งนี้ ท่านกล่าวว่า ตามความหมายเดิมในภาษาบาลีนั้น “อารมณ์” คือ สิ่งที่จิตยึด-จับ-รับรู้ วงการศึกษาธรรมจึงแปลกันให้ตรงลงไปว่า “อารมณ์” คือ sense-object แล้วท่านได้ยกตัวอย่างว่า อารมณ์ มีทั้งอารมณ์ทางกาย และอารมณ์ทางใจ [1]
ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 (พ.ศ. 2513) เป็นต้นมา มีวิวาทะมากมายเกี่ยวกับความควร หรือไม่ควร ที่จะเพิ่มเติมคำว่า ทางด้านวิญญาณ (spirit) ที่อาจมีผู้แปลความว่า จิตวิญญาณ จิตปัญญา หรือปัญญา เข้าไว้เป็นด้านหนึ่งของสุขภาวะในคำนิยามของ WHO โดย WHO มิได้ปฏิเสธ [4] ทั้งนี้ คำนิยามแรกโดย WHO นั้น (ตั้งแต่ พ.ศ. 2489) [3] ยังคงอยู่เช่นเดิมจนถึงปัจจุบัน (พ.ศ. 2560)
ในระบบของความสัมพันธ์ คำว่า “ชีวิต” นั้น มีผู้ใช้ว่าเป็นรูปนาม หรือ “นามรูป” ที่เป็นองค์ร่วมใหญ่สองอย่างคือด้านจิตใจและด้านร่างกาย ที่รวมเป็นคำเอกพจน์ อันแสดงถึงองค์รวมอันเดียว [1] จึงมีการกล่าวต่อถึงองค์ประกอบย่อยในองค์ประกอบใหญ่ในเชิงระบบของความสัมพันธ์ว่า ชีวิตกับสิ่งแวดล้อม
วิธีการทำความเป็นองค์รวม
เกี่ยวกับวิธีการทำความเป็นองค์รวมนั้น พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต) กล่าวว่า ความพิเศษของมนุษย์ คือ มนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้อง “ฝึก” และประเสริฐได้ด้วยการฝึก ทั้งนี้ เครื่องมือในการที่มนุษย์ใช้ติดต่อสื่อสารสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม (หรือกับโลก) ที่เรียกว่า “การฝึกหรือการศึกษา” นั้น ได้แก่ เรียนรู้ ฝึกฝน หัด และพัฒนา ดังนั้น “ฝึก” จึงเป็นวิธีจะพัฒนาชีวิตของเรา [1]
วิธีวัดและวัดประเมินผลความเป็นองค์รวม
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต) กล่าวว่า “...ในการที่เราจะมีสุขภาวะนั้น ภาวะที่เป็นสุขเป็นความสมบูรณ์อย่างหนึ่งที่มีองค์ประกอบ หรือด้านต่างๆหลายด้าน ที่เราจะต้องมองต้องคำนึงถึง และด้านเหล่านั้นเราจะต้องใช้เป็นเครื่องตรวจสอบความสุขด้วย หมายความว่า ความสุขใดๆ ที่ใครก็ตามพูดขึ้นมานั้น เราตรวจสอบได้ว่าเป็นความสุขที่แท้จริงหรือเปล่า ถ้าไม่มีภาวะที่ว่ามาเหล่านั้นแล้ว ก็ไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง...” [1] ผู้ทบทวนวรรณกรรมจึงเห็นว่ามีคำตอบของ วิธีวัดประเมินผล อยู่ในตัว
ความเห็นของผู้ทบทวนวรรณกรรมเพื่อกำหนดนิยามองค์รวมของโครงการชื่นชีวิตจิตใจ
หากผู้ให้บริการสุขภาพ มี เวลา คำนึงถึง ด้านที่เป็นวัตถุ (ร่างกาย) ของมนุษย์ และด้านที่ไม่ใช่วัตถุ (จิตใจ อารมณ์ ประสบการณ์ จิตสำนึก จิตปัญญา จิตสังคม) ของมนุษย์ รวมทั้งคำนึงถึง ภาวะแวดล้อมรอบด้าน (เช่น ความสว่าง ความเสรี ความสะอาด ความสงบ หรือจะเรียกว่า ความปลอดภัย) ได้สมบูรณ์อันเดียวกันหรืออย่างเป็นองค์รวม แล้ว คำที่เกี่ยวข้องกับด้านของสุขภาวะในภาษาของผู้ทบทวนวรรณกรรม จะมีทางด้าน “กาย ใจ กับ สิ่งแวดล้อม”
ในที่นี้ ผู้รับบริการ คือ มนุษย์ผู้ฝึกตน ปฏิบัติตน หรือผู้เป็นกำลังสำคัญของตน ครอบครัว สถานที่ทำงาน ชุมชน และประเทศ
อรพินท์ มุกดาดิลก
16 กรกฎาคม 2560
hooraygoodhealth.com
เอกสารอ้างอิง
[1] พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต). สุขภาวะองค์รวมแนวพุทธ. พิมพ์ครั้งที่ 10. กรุงเทพมหานคร: ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด; 2549.
[2] Smuts J.C. Holism and evolution. 3rd. London: Macmillan and co. limited; 1936.
[3] World Health Organization. Basic documents - 48th ed [Internet]. 2014 [cited 2017 June 25]. Available from: http://apps.who.int/gb/bd/
[4] วิชัย โชควิวัฒน. การศึกษาว่าด้วยมิติทั้ง 4 ของสุขภาพ. วารสารวิจัยระบบสาธารณสุข 2552;3(3):323-35.